ประวัติความเป็นมา และข้อมูลหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

               “หอการค้า” หมายถึง สถาบันเอกชนที่กลุ่มบุคคลจัดตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรส่งเสริมการค้า อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงิน และเศรษฐกิจ โดยมิใช่เป็นการแสวงผลกำไรหรือหารายได้มาแบ่งปันกัน หอการค้ามีสถานภาพทางกฎหมายเป็น “นิติบุคคล“ เมื่อได้รับอนุญาตและจดทะเบียนจัดตั้งแล้ว ในประเทศไทยมีหอการค้าอยู่ 4 ประเภทด้วยกัน คือ

 

  1. หอการค้าจังหวัด
  2. หอการค้าไทย
  3. หอการค้าต่างประเทศ
  4. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม” ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2520 จากการรวมตัวของนักธุรกิจภายในจังหวัด โดยการสนับสนุนของทางราชการ ภายใต้พระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 ที่จะส่งเสริมให้พ่อค้า นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม รวมตัวกันเป็นสถาบันหอการค้า เพื่อส่งเสริมให้เป็นนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน ทั้งทางด้านคุณธรรมและวิชาการ อีกทั้งเพื่อให้เป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนปกป้อง รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมภายในจังหวัด ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการค้าทั้งในระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ

วัตถุประสงค์และหน้าที่ของหอการค้า

  1. ส่งเสริมการค้า อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงิน และเศรษฐกิจโดยทั่วไป เช่น
    1. รวบรวมสถิติ เผยแพร่ข่าวสารทางการค้า วิจัยเกี่ยวกับการค้าและการเศรษฐกิจ
    2. ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
    3. ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin)
    4. วางมาตรฐานคุณภาพของสินค้า ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า
    5. จัดตั้งและดำเนินการสถานศึกษาที่เกี่ยวกับการค้าและเศรษฐกิจ
    6. จัดตั้งพิพิธภัณฑ์สินค้า และจัดงานแสดงสินค้า
    7. ทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาททางการค้า
  2. ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะ แก่สมาชิกเกี่ยวกับการค้า อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงิน และเศรษฐกิจ และช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจของสมาชิก
  3. ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะแก่รัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
  4. ประสานงานในทางการค้า ระหว่างผู้ประกอบการค้า กับทางราชการ
  5. ช่วยเหลือและส่งเสริมการกุศล และสาธารณสงเคราะห์
  6. ปฏิบัติกิจการอื่นๆ ตามแต่กฎหมายจะระบุให้เป็นหน้าที่ของหอการค้า หรือตามที่ทาง ราชการมอบหมาย

การดำเนินกิจการ
ในการดำเนินกิจการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ มีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนของหอการค้าในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนดำเนินการแทนได้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้มีจำนวนกรรมการทั้งสิ้นไม่เกิน 31 นาย โดยมีประธานกรรมการ 1 นาย รองประธานกรรมการไม่น้อยกว่า 1 นาย เลขาธิการ 1 นาย ผู้ช่วยเลขาธิการไม่น้อยกว่า 1 นาย เหรัญญิก 1 นาย นายทะเบียน 1 นาย ปฏิคม 1 นาย และกรรมการอื่นตามความเหมาะสม ซึ่งกรรมการดังกล่าวนี้จะต้องเลือกตั้งจากสมาชิกสามัญหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับเลือก

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ยังมีคณะกรรมการสาขาอาชีพ ซึ่งคณะกรรมการจะแต่งตั้งจากกรรมการ สมาชิก หรือบุคคลภายนอกก็ได้ โดยแบ่งตามประเภทวิสาหกิจหลักของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของสมาชิกที่ประกอบการในสาขาอาชีพเดียวกัน ทำหน้าที่รวบรวม พิจารณาประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนร่วมแสดงความเห็นเสนอแนะในแนวทางการพัฒนาธุรกิจของสมาชิกในแต่ละสาขา เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของสมาชิก ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

นอกจากนี้หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จะมีเจ้าหน้าที่ประจำ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามนโยบายของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะกรรมการจะมอบหมายให้กระทำการแทน รวมถึงทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกรรมการ สมาชิก อนุกรรมการ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีผู้อำนวยการ และผู้จัดการ เป็นเจ้าหน้าที่ในระดับบริหารและจัดการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ประจำในฝ่ายต่างๆ

สำนักงาน / สำนักเลขาธิการ

ในการดำเนินกิจการใดๆ ตามนโยบายของคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่นั้น ทางสำนักเลขาธิการ / สำนักงานหอการค้าฯ จะเป็นผู้สนองรับนโยบายต่างๆ มาปฏิบัติ ตลอดจนเป็นสถานที่สำหรับให้สมาชิกนักธุรกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน มาติดต่อและใช้บริการต่างๆ ปัจจุบัน สำนักงานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 39/5-6 หมู่ที่ 3 ถนนวงแหวนรอบกลาง ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000 โทรศัพท์ (66 53) 105038 โทรสาร (66 53) 105039 E-mail : cmchamber1977@gmail.com , Website : www.cmchamber.com

สมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

สมาชิกหอการค้า แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ และสมาชิกกิตติมศักดิ์

  1. สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดาสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่มีบุคคลสัญชาติไทย เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นเกินกึ่งจำนวนเงินของนิติบุคคลนั้น และประกอบวิสาหกิจทางการค้า อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงิน หรือเศรษฐกิจ หรือเป็นรัฐวิสาหกิจ สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร หรือสมาคมการค้าที่มีสมาชิก ซึ่งมีสัญชาติไทยเกินกึ่งจำนวนของสมาชิกทั้งหมด ซึ่งมีภูมิลำเนาหรือที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานสาขาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
  2. สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือสมาคมการค้า ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตจังหวัดเชียงใหม่
  3. สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่มิได้มีสัญชาติไทย หรือสมาคม-การค้าที่มีสมาชิกเป็นคนต่างด้าวเกินกึ่งจำนวนของสมาชิกทั้งหมด หรือสหภาพแรงงาน หรือสมาคมตามกฎหมายอื่น ๆ
  4. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ อดีตประธานกรรมการหอการค้า บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่หอการค้า ซึ่งคณะกรรมการของหอการค้ามีมติเชิญเข้าเป็นสมาชิก และบุคคลนั้นตอบรับเชิญ


สิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิก

สมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนใช้บริการของหอการค้า ดังนี้-.ได้รับบริการจากหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่โดยไม่เก็บค่าบริการ ดังนี้-.

  1. ได้รับความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา เมื่อประสบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับกฎ ระเบียบ หรือนโยบายทางราชการ ที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม มีส่วนร่วมในการเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ (กกร.) และคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่
  2. ได้รับความช่วยเหลือและคำปรึกษาแนะนำทางด้านการค้า การลงทุน
  3. ได้รับการนำชื่อกิจการพิมพ์ลงในสื่อสิ่งพิมพ์ของหอการค้า อาทิ จัดพิมพ์ลงในหนังสือ ทำเนียบสมาชิกหอการค้า จัดพิมพ์เผยแพร่ใน Web Site ของหอการค้า เป็นต้น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของสมาชิกสู่ตลาดเป้าหมาย
  4. ได้รับข่าวสารทางด้านเศรษฐกิจจากหอการค้าฯ เป็นประจำ ทั้งในรูปจดหมาย หนังสือพิมพ์, E-mail และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่หอการค้าฯ จัดทำขึ้น รวมถึงการเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข่าวสารในระหว่างสมาชิกโดยผ่านสื่อของหอการค้าฯ
  5. เมื่อมีกรณีพิพาททางการค้า หอการค้าฯ จะให้ความช่วยเหลือในการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้านั้นๆ ในรูปของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการ
  6. กิจการของสมาชิกจะได้รับการแนะนำให้รู้จักกับนักธุรกิจต่างประเทศที่มาติดต่อที่หอการค้าฯ หรือติดต่อมาทางจดหมาย โทรสาร E-mail ฯลฯ
  7. ได้รับเชิญร่วมพบปะเจรจาทางการค้ากับคณะนักธุรกิจต่างประเทศ ที่มาเยือนหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ตามประเภทธุรกิจการค้าของผู้มาเยือน
  8. ได้รับเชิญเข้าร่วมอบรมสัมมนาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ในบางกรณี)
  9. บริการห้องสมุดซึ่งรวบรวมเอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ตลอดจนเอกสารทางวิชาการทั้งใน และต่างประเทศ

สมาชิกจะได้รับส่วนลดในการใช้บริการของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้-.

  1. การรับรองเอกสารทางการค้า
    – รับรองเอกสารแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin)
    – รับรองเอกสารอื่น ๆ อาทิ รับรองใบ Invoice, Bill of Lading เอกสารแนะนำ ตัวในการติดต่อธุรกิจ เป็นต้น
    – รับรองฐานะทางการเงิน เพื่อขอรับสิทธิ์เป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดี และ ผู้ส่งออกขึ้นทะเบียนของกรมสรรพากร
  2. การบริการด้านการประชาสัมพันธ์แนะนำ และอำนวยความสะดวก
    – ให้บริการสอดรับแทรกสิ่งพิมพ์ต่างๆ ไปพร้อมกับเอกสารสิ่งพิมพ์ของ หอการค้า
  3. ได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมที่หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้น ได้แก่-.
    – การจัดอบรม – สัมมนาทางวิชาการ รวมถึงการจัดหลักสูตรการอบรมเป็นการ เฉพาะ (Inhouse Trainning) และการให้เช่าห้องประชุมความจุไม่เกิน 30 ท่าน
    – การจัดงานแสดงสินค้าในประเทศ – ต่างประเทศ
    – การจัดคณะผู้แทนหอการค้าไปเยือนทั้งใน – ต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน

การสมัครเป็นสมาชิก

  1. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก ผู้ประกอบการประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สามารถติดต่อขอรับใบสมัคร และรายละเอียดการสมัครเป็นสมาชิก ได้ที่ฝ่ายงานสมาชิกสัมพันธ์ พร้อมยื่นเอกสารหรือหลักฐานประกอบ ดังนี้กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วนตามแบบฟอร์ม พร้อมประทับตราสำคัญของกิจการ และยื่นใบสมัครได้ที่กรรมการนายทะเบียน

เอกสารประกอบการยื่นสมัครในนามบริษัทจำกัด
1) สำเนาหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์ พร้อมวัตถุประสงค์ของบริษัท
2) สำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัท
3) สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ. 5) ที่สำนักงานทะเบียนการค้าจังหวัดเชียงใหม่ประทับตรารับรอง (เฉพาะบริษัท)
4) สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20)

เอกสารประกอบการยื่นสมัครในนามห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล/ห้างหุ้นส่วนจำกัด
1) สำเนาหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์ พร้อมวัตถุประสงค์
2) สำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน
3) สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20)

เอกสารประกอบการยื่นสมัครในนามบุคคลธรรมดา (ร้านค้า)
1) สำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนร้านค้า หรือ
2) สำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)
3) สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20)

สำเนาบัตรประชาชน หน้า – หลังรูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป

  1. การพิจารณาเข้าเป็นสมาชิก คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จะพิจารณาแบบคำขอสมัครเป็นสมาชิกเดือนละครั้ง และจะอนุมัติและรับรองเป็นสมาชิกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ยื่นแบบคำขอ และผู้สมัครเป็นสมาชิกจะถือว่าเข้าเป็นสมาชิกของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่อย่างสมบูรณ์ ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติและรับรองจากคณะกรรมการ และชำระค่าลงทะเบียน ค่าบำรุงสมาชิกครบถ้วนแล้ว
  2. การชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาชิก สมาชิกสามัญ วิสามัญ และสมทบ จะชำระค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาชิกเป็นเงินสด หรือเช็คส่งจ่ายในนามหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่” ตามอัตราที่กำหนดดังนี้

      สมาชิก : สมาชิกรายปี สมาชิกสามัญ*
ประเภทสมาชิก บุคคลธรรมดา / นิติบุคคล
ค่าบำรุงสมาชิก 4,000 บาท
รวม VAT 7% 4,280 บาท

      สมาชิก : สมาชิกรายปี สมาชิกวิสามัญ*
ประเภทสมาชิก บุคคลธรรมดา / นิติบุคคล
ค่าบำรุงสมาชิก 4,000 บาท
รวม VAT 7% 4,280 บาท

      สมาชิก : สมาชิกรายปี สมาชิกสมทบ*
ประเภทสมาชิก บุคคลธรรมดา / นิติบุคคล
ค่าบำรุงสมาชิก 4,000 บาท
รวม VAT 7% 4,280 บาท
หมายเหตุ อัตรานี้รวม VAT 7% แล้ว

   

ค่าบำรุงสมาชิกประจำปีที่ชำระนี้จะนับเริ่มจากเดือนที่ได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกจนครบ 12 เดือน สมาชิกรายใดที่ยังไม่ชำระค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาชิก หรือค้างชำระ หรือไม่จัดการชำระค่าบำรุงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแจ้งเตือนจากหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกจะไม่มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน หรือสิทธิในการรับเลือกเป็นกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ในการประชุมใหญ่ของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และใช้สิทธิในนามสมาชิกในกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ หรือกิจกรรมต่างๆหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ให้สมาชิก

4. การแต่งตั้งผู้แทนของกิจการ เพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิและทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกจะต้องแต่งตั้งผู้แทน ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และเป็นกรรมการบริษัท หรือหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลตามกฎหมาย เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนกิจการ (นิติบุคคล) 1 คน ในกิจการอันเกี่ยวกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

5. การต่ออายุสมาชิก การต่ออายุสมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ในปี ต่อๆ ไป ทำได้โดยการแจ้งขอต่ออายุการเป็นสมาชิก โดยการชำระค่าบำรุงสมาชิกประจำปีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

6. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
6.1 สมาชิกมีสิทธิจะได้รับความช่วยเหลือเกี่ยวกับการค้า อุตสาหกรรม และการ เศรษฐกิจ จากหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เท่าที่จะอำนวยให้ได้ตามสมควร
6.2 สมาชิกมีสิทธิจะเสนอความคิดเห็นหรือคำแนะนำใดๆ เกี่ยวกับการค้า การเศรษฐกิจ หรือความเจริญก้าวหน้าของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ต่อคณะกรรมการได้
6.3 สมาชิกมีสิทธิในการออกเสียงในการประชุมใหญ่ ของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ โดยผ่านผู้แทนที่ได้แต่งตั้ง (กรณีนิติบุคคล)ในการประชุมใหญ่สามัญสมาชิก และ การเลือกตั้งคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะสมาชิกสามัญเท่านั้นที่จะสามารถใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน และรับเลือกเป็นกรรมการหอการค้าจังหวัด เชียงใหม่ และจะต้องเป็นสมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ของปีที่มีการประชุมใหญ่

7. การประชุมใหญ่สมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จะจัดให้มีการประชุมใหญ่ ในแต่ละคราว ดังนี้
7.1 การประชุมใหญ่ประจำปี ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นภายในเดือน มีนาคม ของแต่ละปี
7.2 การประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการ จะจัดให้มีขึ้นคราวละ 2 ปี คือ ภายในเดือน มีนาคม
7.3 การประชุมสมาชิกเป็นกรณีพิเศษ (การประชุมวิสามัญ) ซึ่งอาจจะจัดขึ้นในกรณีที่มี สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด โดยยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการขอเรียกประชุมเป็นกรณีพิเศษได้