27 ตุลาคม 2565 นายอาคม สุวรรณกันธา รองประธานกรรมการ เป็นผู้แทนหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมการประชุมตรวจเยี่ยม และติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนไทย – เมียนมา ณ ช่องทางบ้านสันต้นดู่ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ กรณีการพิจารณาเปิดใช้ประโยชน์ช่องทางบ้านสันต้นดู่ ผ่านระบบประชุมทางไกล (ZOOM Coference) โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน .
โดยหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาด่านการค้าชายแดนในอนาคต 7 ข้อด้วยกัน ดังนี้
1. ผลักดันให้เกิดด่านผ่อนปรนทางการค้าทั้ง 3 ด่าน ได้แก่ ด่านหลักแต่ง ด่านกิ่วผาวอก และสันต้นดู่เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชน และ SMEs ในพื้นที่โดยตั้งเป้าให้เกิดเม็ดเงินหลังจากเปิดด่านแล้ว 1,500 ล้านบาทต่อปี และหากมีความพร้อมเต็มรูปแบบจึงผลักดันให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรในด่านที่มีศักยภาพและมีความพร้อมต่อไป
2. เสนอให้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนร่วมกับพม่าโดยเน้นความร่วมมือทางด้านสังคม และวัฒนธรรมไปพร้อม ๆ กัน เช่นการใช้วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวนำร่อง และการค้า พร้อมกับออกมาตรการการกระตุ้นให้เกิด SMEs ผู้ประกอบการด้านการค้าชายแดน และการลงทุนที่เอื้อต่อระบบการค้าชายแดน
3. เสนอให้สร้างกลไกความร่วมมือโดยเน้นส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า ให้มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนการเยือน ระดับจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง และมีระดับการสร้างความสัมพันธ์ เช่น การพบปะ เยี่ยมเยือน การสร้างความคุ้นเคย การสร้างความเชื่อถือ เพื่อสร้างไว้เนื้อเชื่อใจเป็นต้น
4. เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการในระดับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 และนำเสนอผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จังหวัดเชียงใหม่ และกรอ.กลุ่มจังหวัด และกรอ.พาณิชย์ โดยเฉพาะ การจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ การสร้างกลไกทางด้านการทหารผ่าน TBC การผลักดันด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือเส้นทางโลจิสติกส์ เส้นทางเชื่อมโยงการค้าชายแดนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ขุนยวม-แม่สะเรียง-ปาย-เวียงแหง-เชียงดาว-แม่อาย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนสินค้า รวมถึงการท่องเที่ยว และการบูรณาการข้อมูลการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เป็นต้น
5. การดำเนินการให้สอดคล้องกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (Northern Economic Corridor) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ อันจะส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เกี่ยวเนื่องกับการค้าชายแดนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย
6. การวางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระเบียงเศรษฐกิจในระยะยาว ระหว่างประเทศไทย พม่า อินเดีย และ พม่า -คุนหมิง เพื่อจะเอื้อให้เกิดเส้นทางการค้า ตามมา เช่น เส้นทาง
6.1 เส้นทาง BP 3 (หลักแต่ง) – – ตองยี- มัณฑะเลย์ ต่อไปไปยัง มูเซน้ำขาน-ลุ่ยลี่-คุนหมิง
6.2 เส้นทาง BP1 (กิ่วผาวอก) – -ตองยี-มัณฑะเลย์
6.3 เส้นทาง BP1-BP3 –เมืองสาด –เชียงตุง-เมืองลา (แม่สาย)
7. ศึกษาความเป็นไปได้และผลักดันวิธีการส่งออกผ่านกลไก Cross-Border e-Commerce ผ่านกฎระเบียบพิเศษของทางศุลกากร และจำหน่ายผ่านทางแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce ซึ่งเป็นวิธีการนำเข้าที่สะดวก เพื่อส่งสินค้าจากชายแดนไทยไปยังจีน และอินเดียในอนาคต
