​ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 51/2563 เรื่อง ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2563

​ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 51/2563
เรื่อง ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2563

​          นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2563 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง ระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนระบบเศรษฐกิจการเงินในภาวะที่ท้าทายในระยะต่อไปได้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ ช่วยสนับสนุนสินเชื่อและชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงจากผลกระทบของ COVID-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้

          ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,877 พันล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ร้อยละ 19.2 เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 743.7 พันล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ที่ร้อยละ 144.1 และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ที่ร้อยละ 183.4

          ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.0 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน โดยมีรายละเอียดดังนี้

          สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 65.2 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 ตามการใช้สินเชื่อของภาครัฐ และธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับสินเชื่อ SMEs[1] ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เป็นผลให้หดตัวในอัตราที่ลดลง

         สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 34.8 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 4.8 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ สอดคล้องกับการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยที่ปรับดีขึ้นภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง

          คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เชิงป้องกัน (pre-emptive) ซึ่งช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 509.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 3.09 เทียบกับไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 3.04 โดยเพิ่มขึ้นจากธุรกิจสายการบินขนาดใหญ่เป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ร้อยละ 7.48 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 7.69

          ในไตรมาส 2 ปี 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 31.0 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 53.3 พันล้านบาท[2] โดยหลักจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจมีแนวโน้มด้อยลง ประกอบกับรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารปรับลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.57 จากร้อยละ 1.03 ในไตรมาสก่อน สำหรับอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.60 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.90 ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงสอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund: FIDF) เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยของภาคธุรกิจและประชาชนเป็นสำคัญ 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
17 สิงหาคม 2563

 
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน
โทรศัพท์ : 0 2283 5980
E-mail : BRAD@bot.or.th  
———————————————————————
[1] ธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท
[2] หักรายได้เงินปันผลที่จ่ายระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในขั้นตอนการควบรวมกัน

>>​Download​​ ข่าว PDF

บทความอื่นๆ

อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

กิจกรรม CCA Academy หัวข้อ “การบริหารธุรกิจกับนักธุรกิจรุ่นใหม่”

เชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรม CCA Academy หลักสูตรฝึกอบรม “รู้เท่าทันเทคโนโลยียุคดิจิทัลสำหรับประชาช …

Read More →

งาน”Chiangmai Hall Open House”

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมงาน “Chiangmai Hall Open House” วันที่ 19 กันยายน 2566 ผู้แ …

Read More →

ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดเชียงใหม่

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 2/25 …

Read More →

องค์กรเข้มแข็ง สมาชิกยั่งยืน ฟื้นเศรษฐกิจเชียงใหม่สู่ยุคดิจิตอล

Chiang Mai, Thailand

053 105 038

Cmchamber1977@Gmail.com

Working Hours

จันทร์ – ศุกร์ : 8.30 – 17.00

องค์กรเข้มแข็ง สมาชิกยั่งยืน ฟื้นเศรษฐกิจเชียงใหม่สู่ยุคดิจิตอล

Chiang Mai, Thailand

053 105 038

Cmchamber1977@Gmail.com

Working Hours

จันทร์ – ศุกร์ : 8.30 – 17.00

Chiang Mai Chamber of Commerce 2023. All Rights Reserved.